งานวิจัย : ผลการพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องสั้น ๆ ...

ผลการพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องสั้น ๆ
สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
โดยใช้แบบฝึกทักษะแบบวิเคราะห์งาน (Task analysis)


ภูมิหลัง
การเขียนเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของบุคคลออกมาเป็นสัญลักษณ์ คือ ตัวอักษร เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจจากความข้างต้น ทำให้มองเห็นความหมายของการเขียนว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เช่น นักเรียน ใช้การเขียนบันทึกความรู้ ทำแบบฝึกหัดและตอบข้อสอบบุคคลทั่วไป ใช้การเขียนจดหมาย ทำสัญญา พินัยกรรมและค้ำประกัน เป็นต้น พ่อค้า ใช้การเขียนเพื่อโฆษณาสินค้า ทำบัญชี ใบสั่งของ ทำใบเสร็จรับเงิน แพทย์ ใช้บันทึกประวัติคนไข้เขียนใบสั่งยาและอื่นๆ เป็นต้น เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หรือเรียกย่อๆ ว่า L.D. (Learning Disability) มีปัญหาทาง การเรียนรู้เฉพาะอย่าง โดยมีความบกพร่อง หรือปัญหาหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งอย่างในกระบวนการทางจิตวิทยาทำให้เด็กเหล่านี้มีปัญหาทาง การใช้ภาษา หรือการพูด การเขียน โดยจะแสดงออกมาในลักษณะของการนำไปปฏิบัติทั้งนี้ไม่นับรวมเด็กที่มีปัญหาเพียงเล็กน้อยทางการเรียน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก การขาดแรงเสริม ด้วยโอกาสทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม หรือเป็นเพราะครูสอนไม่มี ประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ในการพิจารณาเรื่องปัญหาทางการเรียนรู้จึงต้องอาศัยลักษณะร่วมกันคือ เป็นผู้ที่มีระดับสติปัญญาปกติ หรือมีสติปัญญาอยู่ในช่วงเช่นเดียวกับเด็กปกติแต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะต่ำกว่าปกติ และจะต้องไม่มีความพิการหรือความบกพร่องในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย สุขภาพอนามัย ระบบประสาทการสัมผัสและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง โรงเรียนวัดช่างเคี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วมมีนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมทั้งหมด 8 ประเภท มีนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้เรียนร่วมจำนวน 42 คนและเรียนร่วมในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 7 คน พบว่านักเรียนจำนวน 3 คน มีปัญหาการเขียนเรื่องสั้น ๆ ส่งผลกระทบ ในการเขียน เช่น การเขียนเรียงความ การเขียนรายงาน
ผู้วิจัยจึงสนใจในการแก้ปัญหาโดยใช้แบบฝึกทักษะแบบวิเคราะห์งาน เพื่อพัฒนาการเขียนเรื่องสั้น ๆและมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนสูงขึ้น


วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องสั้นๆ สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
โดยใช้แบบฝึกทักษะแบบวิเคราะห์งาน

ความสำคัญของการศึกษา
ผลของการวิจัยในครั้งนี้จะเป็นแนวทาง และประโยชน์ต่อการพัฒนารูปแบบการสอนเขียนแบบวิเคราะห์งานแก่ครูผู้สอนและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพการเรียนและมีผลสัมฤทธิ์ด้านการเขียนดีขึ้น

กลุ่มเป้าหมาย
คือ นักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3 คน

ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลอง
การศึกษาในครั้งนี้ได้ดำเนินการทดลองใน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 โดยใช้เวลาทดลองวันละ 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 เดือน (พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม 50 )
เนื้อหาที่ใช้ทดลอง
การเขียนคำ การเขียนประโยค การเขียนเรื่อง จากแบบฝึกทักษะแบบวิเคราะห์งาน



ตัวแปรที่ศึกษา



เครื่องมือทดลอง ได้แก่
1. แผนการจัดการเรียนรู้การสอนแบบวิเคราะห์งาน
2. แบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องสั้น ๆแบบวิเคราะห์งาน

เครื่องมือรวบรวมข้อมูล ได้แก่
1. แบบทดสอบก่อนเรียน หลังเรียน
2. แบบบันทึกการเขียน

สรุปผลการศึกษา
พบว่า การใช้แบบฝึกทักษะแบบวิเคราะห์งานเพื่อพัฒนาการเขียนเรื่องสั้น ๆ ก่อนการทดลองนักเรียนทั้ง 3 คนมีความสามารถการเขียนเรื่องสั้น ๆ ได้คิดเป็นร้อยละ 45 และหลังการทดลองคิดเป็นร้อยละ 80 นักเรียนมีความก้าวหน้าพัฒนาการเขียนเรื่องสั้น ๆเพิ่มขึ้นและสูงกว่าตัวชี้วัด ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดว่านักเรียนสามารถเขียนเรื่องสั้น ๆ ได้ใจความร้อยละ 70
ข้อเสนอแนะ
1. ในการวิจัยครั้งต่อไปควรพัฒนาการเขียนเรื่องสั้น ๆ ของนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะแบบวิเคราะห์งานย่ในระดับชั้น ป. 4 ป. 5
2. ในการวิจัยครั้งต่อไปควรพัฒนาเขียนเรียงความสำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ ในระดับชั้นที่สูงขึ้น


Flow Chart
การสอนวิเคราะห์งาน (Task analysis)

ผู้วิจัย : สุลีกาญ ธิแจ้ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดช่างเคี่ยน

E mail : suleekan@hotmail.com โทร.081 9982516

ที่ปรึกษา : ดร. เกตมณี มากมี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่

งานวิจัย : กลยุทธ์ 5อ 1ข 2ท

ความเป็นมา
โรงเรียนวัดช่างเคี่ยนเป็นโรงเรียนขยายโอกาสและจัดการเรียนร่วมโดยมีนักเรียนทั้งหมด 487 คน และมีนักเรียนที่มีความบกพร่องเรียนร่วมในโรงเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2534 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันมีนักเรียนเรียนร่วมในโรงเรียน จำนวน 8 ประเภท 124 คน ได้แก่
1) เด็กที่บกพร่องทางการเห็น จำนวน 9 คน 2)เด็กที่บกพร่องทางด้านสติปัญญา จำนวน 20 คน 3) เด็กที่บกพร่องทางด้านร่างกายและสุขภาพจำนวน 5 คน 4) เด็กที่บกพร่องทางด้านการพูดและภาษาจำนวน 2 คน 5) เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้จำนวน 49 คน 6) เด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์จำนวน 14 คน 7) เด็กออทิสติกจำนวน 24 คน 8) เด็กพิการซ้อน 1 คน
เนื่องจากโรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นโรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วมและได้รับโล่รางวัลโรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วมดีเด่นในระดับภูมิภาคประจำปีการศึกษา 2547 ได้รับโล่รางวัลเป็นโรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วมระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลออทิสติกดีเด่นในระดับภูมิภาคประจำปีการศึกษา 2547 ต่อมาจึงเป็นแหล่งศึกษาดูงานเป็นต้นแบบการจัดการเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้าง SEAT และเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง ชุมชนหน่วยงานอื่นๆและบุคคลที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการเรียนร่วมที่เข้าศึกษาดูงานทั่วประเทศอยู่เป็นประจำโดยเฉลี่ยสัปดาห์ 2 –3 คณะนอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาที่เรียนโปรแกรมการศึกษาพิเศษ ของสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ วิทยาลัยพลศึกษาทุกปีการศึกษา โรงเรียนจึงได้ตระหนักถึงการจัดการเรียนร่วมให้มีคุณภาพสามารถเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น จึงมีแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนร่วมโดยใช้กลยุทธ์ 5 อ 1 ข 2 ท และให้คำนิยามศัพท์ กลยุทธ์ 5 อ 1 ข 2 ท ไว้ดังนี้

- 5 อ หมายถึงการให้โอกาสเด็กพิการมีโอกาสในการเรียนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคมี การพัฒนาตามศักยภาพ ให้ความอบอุ่น ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็กพิการและเด็กที่บกพร่องเสมือนบุคคลในครอบครัวโดย จัดสภาพแวดล้อมด้านบุคคลให้เอื้อต่อสภาพจิตใจเพื่อให้เด็กมีความมั่นใจในการมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ให้ความอดทน ผู้บริหาร ครูและนักเรียนทั่วไปมีความอดทน อดกลั้น ต่อพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่พึงประสงค์ ของเด็กที่บกพร่องและครูมีความอดทนรอคอยการพัฒนาเด็กที่บกพร่องให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้อภัยพร้อมที่จะให้อภัยต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์โดยให้ความอ่อนโยนในการปรับพฤติกรรม ที่แฝงด้วยความเข้าใจ
- 1 ข หมายถึง เข้าใจธรรมชาติของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เข้าใจอย่างลึกซึ้งในพฤติกรรมที่แสดงออกและความต้องการ และเข้าใจเลือกใช้เทคนิคการสอนการวัดผลประเมินให้เหมาะสมเป็นรายเฉพาะบุคคล
- 2ท หมายถึง ทำด้วยความจริงใจ ทำอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เด็กพิการหรือเด็กที่มีความบกพร่อง มีสิทธิโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษา ขั้นพื้นฐานเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนเขตบริการได้
2. เพื่อให้เด็กพิการหรือเด็กที่มีความบกพร่องได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครองและได้รับความอบอุ่นดูแลเอาใจใส่บุตรหลานของตนเองอย่างใกล้ชิดเมื่อได้เรียนใกล้บ้าน
3. เพื่อให้ความเสมอภาค เท่าเทียมในการศึกษาสามารถเรียนต่อในชั้นสูงได้
4. เพื่อให้เด็กพิการหรือเด็กที่มีความบกพร่องได้พัฒนาตนเองมีคุณภาพชีวิตที่ดี
5. เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของชุมชน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ครู นักเรียน ให้มีคุณธรรม จริยธรรม เข้าใจ โอบอ้อมอารี รู้จักช่วยเหลือเด็กพิการหรือเด็กที่มีความบกพร่อง
6. เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของเด็กที่มีความบกพร่องเพื่อยอมรับศักยภาพการอยู่ร่วมกับสังคมปกติทั่วไปและพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับบุคคลทั่วไปทางศึกษาและด้านอื่น ๆ

ผลดำเนินการ
1. เด็กพิการหรือเด็กที่มีความบกพร่องในเขตบริการได้รับสิทธิโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนเรียนร่วม ร้อยละ 100
2. เด็กพิการหรือเด็กที่มีความบกพร่องได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครองและได้รับความอบอุ่นดูแลเอาใจใส่บุตรหลานของตนเองอย่างใกล้ชิดเมื่อได้เรียนใกล้บ้าน ร้อยละ 95
3. เพื่อให้ความเสมอภาค เท่าเทียมในการศึกษาสามารถเรียนต่อในชั้นสูงได้ ร้อยละ 100
4. เพื่อให้เด็กพิการหรือเด็กที่มีความบกพร่องได้พัฒนาตนเองมีคุณภาพชีวิตที่ดี ร้อยละ 99
5. เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของชุมชน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ครู นักเรียน ให้มีคุณธรรม จริยธรรม เข้าใจ โอบอ้อมอารี รู้จักช่วยเหลือเด็กพิการหรือเด็กที่มีความบกพร่อง ได้ร้อยละ 100
6. เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของเด็กที่มีความบกพร่องเพื่อยอมรับศักยภาพการอยู่ร่วมกับสังคมปกติทั่วไปและพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับบุคคลทั่วไปทางศึกษาและด้านอื่น ๆ ได้ร้อยละ 100
7. จากการใช้นวัตกรรมนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษมีการพัฒนาผ่านเกณฑ์ที่ระบุไว้ในแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ร้อยละ 100
8. ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอน ร้อยละ 100
9. ผู้ปกครองมีความพึงพอใจในการจัดการเรียนการสอนร้อยละ 100
10. นักเรียนมีความพึงพอใจ มีความสุขในการมาโรงเรียนและการเรียน ร้อยละ 95
11. ชุมชน ครู ผู้ปกครองนักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการจัดการเรียนร่วมร้อยละ 100
12. ครูผู้สอนมีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ร้อยละ 100
13. ผู้บริหารครูผู้สอนนักเรียน ผู้ปกครองได้รับรางวัลด้านการจัดการศึกษาพิเศษจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามเกณฑ์ชี้วัดร้อยละ 100

14. โรงเรียนเป็นที่ยอมรับของวงการศึกษาเป็นแหล่งศึกษาดูงานมีผู้ที่สนใจ เข้าศึกษาดูงานทุกสัปดาห์

15. นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นมีความสามารถหลากหลาย จนเป็นที่ยอมรับของสังคมในด้านการอ่านทำนองเสนาะ ได้รับรางวัลที่ 1 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1
- ด้านการพูด การเล่าเรื่อง ได้รับรางวัลที่ 2 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1
- ด้านการสวดสรภัญญะ ได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท
- ด้านการเล่นดนตรี นายสุทธิพงษ์ อัศวภูมิ สามารถเล่นดนตรีสากลทุกชนิดเป็นที่ยอมรับของสังคม
- ด้านการแต่งเพลง นายสุทธิพงษ์ อัศวภูมิ สามารถแต่งเพลงที่เป็นผลงานของตนเอง ชุดรอวันปฏิหารย์ กำลังได้รับการตอบรับจากแฟนเพลง ตามคลื่นวิทยุต่างๆ ติดอันดับ 1 ใน 10 และได้จดลิขสิทธิ์ สงวนเรียบร้อยแล้ว
- ด้านการพูดในที่สาธารณชน นักเรียนที่บกพร่องทางการมองเห็น สามารถเป็นวิทยากรต้อนรับคณะศึกษาดูงาน เป็นที่ประทับใจของคณะศึกษา ดูงาน
16. นักเรียนออทิสติกมีความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษ เข้าร่วมการแข่งขันการพูดภาษาอังกฤษ เข้าร่วมการแข่งขันการพูดได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ในการแข่งขันทักษะทางวิชาก และเด็กชาทศพล แสนกอ ได้รับรางวัลเด็กออทิสติกดีเด่นจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ และนายปิยกานต์ ญาณใน มีความสามารถในการวาดภาพ สามารถจินตนาการได้ เป็นตัวแทนของ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต1 ในงานมหกรรมศิลปะหัตกรรมนักเรียนภาคเหนือ ปี 2551 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (รางวัลยอดเยี่ยม)
17. นักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ มีความสามารถในการเรียนรู้ มีความสามารถใน การเล่นกีฬาฟุตบอลและกีฬาอื่นๆ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคที่กรุงเทพมหานคร ทุกปี ได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงของทุกปี
18. นักเรียนประเภทอื่นมีความสามารถในการเล่นดนตรี ดุริยางค์ สามารถบำบัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้
19. นักเรียนออทิสติกเรียนต่อชั้นสูงในโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนนวมินทราชูทิศเชียงใหม่ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเรียนต่อในโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ นักเรียนบกพร่องทางสติปัญญาเรียนต่อในโรงเรียนสารพัดช่างเชียงใหม่ นักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ (LD) เรียนต่อในวิทยาลัยอาชีวะศึกษาเชียงใหม่

ข้อพึงระวัง
ข้อพึงระวังในด้านการเรียนการสอน ในด้านเทคนิคการเสริมแรงทางบวก มีการประเมินรางวัลที่เด็กชอบ และการเสริมแรงทางลบควบดุมดูแลพฤติกรรม อารมณ์พื้นฐานของเด็กเป็นรายบุคคล

ข้อพึงระวังในด้านการบริหารจัดการ ควรมีการยืดหยุ่นกฎ กติกา ระเบียบวินัย ข้อบังคับของโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะเด็กออทิสติกและเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์

การจัดการเรียนร่วม

กลยุทธ์และเทคนิค
1.ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล
2.เปิดใจตนเองก่อนเปิดใจผู้อื่นพร้อมจะบริหารงานทุกงานเพื่อเด็กไทยรวมถึงเด็กที่พิการ/บกพร่อง/เด็กที่มีปัญหา
3.เป็นผู้รู้จริง รู้ลึก รู้ซึ้ง ทุกงานบริหารโดยใช้หลักทฤษฏี(WSA,SBM,SEAT) ประกอบการเปิดใจ ในพื้นฐานที่ให้ความเข้าใจ ความรัก ความอบอุ่น ความเอื้ออาทร ต่อเด็กพิการ/บกพร่อง/มีปัญหา
4. เน้นการบริหารแบบมีส่วนร่วม ให้ผู้ปกครอง/ชุมชนร่วมกันเป็นหุ้นส่วน
5.ให้ขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปกครอง/ชุมชน /คุณครู
6.ทำงานให้ได้ใจผู้อื่น
7.นักเรียนและผู้ใต้บังคับบัญชาเปรียบเสมือนบุคคลในครอบครัว
8.ครูและนักเรียนทุกคนมีความแตกต่างกระจายงานให้ถูกคนและถูกงาน
9.มีจิตใจมั่นคง หนักแน่นและใช้หลักพรหมวิหาร 4
10. ใจมีคุณธรรมจริยธรรมเปี่ยมล้น


เคล็ดลับ สอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษอย่างไร ใจเป็นสุข

1.ระลึกอยู่เสมอ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความแตกต่าง แม้แต่ สมอง สภาพร่างกายของมนุษย์ มีความแตกต่างระหว่างบุคคล
2.ความพิการเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากจะให้เกิด แต่เมื่อเกิดมาแล้วทำอย่างไรที่ให้ความพิการนั้นมีค่าและเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
3.ให้โอกาส ระลึกอยู่เสมอ ทุกคนต้องพัฒนาได้
4.ให้ความอบอุ่น สอนด้วยความรัก ความอบอุ่น เพื่อให้พัฒนาจากเดิมจะมากหรือน้อย นั่นคือการพัฒนาของคนพิการ/คนบกพร่อง
5.ใช้ความอดทนสูง เพราะ การเรียนรู้ของคนพิการ จะเรียนรู้ช้า และมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ใช้หลักจิตวิทยาในการโน้มน้าวจิตใจ
6.ให้อภัย เพราะพฤติกรรมและการแสดงออก โรคต่าง ๆ ทำให้เขา สูญเสีย... เด็กใช่อยากเป็น... แต่โรคที่รบกวนเขา ทำให้เขาต้องควบคุมตน เองไม่ได้....
7.ใช้ความอ่อนโยนทุกวัน จะทำให้ลดการก้าวร้าวของเด็ก ....สอนให้มีความรู้สึก..โกรธ..เจ็บ ..ด้วยความอ่อนโยน..
8.ให้งานที่เด็กสนใจ
9.ให้งานที่ง่าย และเด็กทำได้แล้วค่อย ๆ เพิ่มงานที่ยาก
10.ครูทำเป็นแบบก่อน
11.มีขอบเขตและข้อตกลงร่วมกัน
12.เน้นงานที่ทำแล้วสำเร็จ
13.เน้นบูรณาการให้ได้มากที่สุด
14.สอนสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว
15.สอนสิ่งที่วัดได้
16.เน้นสอนสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
17. ทำได้ให้รางวัล

ผลงานดีเด่น



ด้านครูผู้สอนภาษาไทย / ครูผู้สอนปฐมวัย
1. ปีการศึกษา 2528 ชนะเลิศอันดับ 2 ครูผู้สอนวิชาภาษาไทยดีเด่น กิ่งอำเภอสันติสุข จ.น่าน
2. ปีการศึกษา 2530 รางวัลครูดีเด่น กิ่งอำเภอสันติสุข จ.น่าน
3. ปีการศึกษา 2537 ครูดีเด่นประเภทผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ดีเด่น ระดับก่อนประถมศึกษา คุรุสภา จ.เชียงใหม่
4. ปีการศึกษา 2537 ชนะเลิศอันดับ 1 ครูผู้สอนก่อนประถมศึกษาดีเด่น อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่
5. ปีการศึกษา 2538 รองชนะเลิศอันดับ 1 ครูผู้สอนก่อนประถมศึกษาดีเด่น ศูนย์ปฏิบัติการที่ 3 สำนักงานการประถมศึกษาจ.เชียงใหม่
6. ปีการศึกษา 2539 ชนะเลิศอันดับ 1 ครูผู้สอนก่อนประถมศึกษาดีเด่น อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่
7. ปีการศึกษา 2540 ครูห้องเรียนตัวอย่าง การสอนวิชาภาษาไทย แบบมุ่งประสบการณ์ภาษา อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่
8. ปีการศึกษา 2541 ครูห้องเรียนตัวอย่าง การสอนวิชาภาษาไทยแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่
9. ปีการศึกษา 2543 ครูผู้อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมทางล้านนา หนังสือพิมพ์เส้นทางผู้นำ
กรุงเทพมหานคร
10. ปีการศึกษา 2544 ครูผู้ผ่านมาตรฐานการประเมินวิชาชีพครู 2544 คุรุสภา


ด้านการศึกษาพิเศษ/สาระภาษาไทย
1.ปีการศึกษา 2542 ครูผู้นำจัดการศึกษาพิเศษ อำเภอเมืองเชียงใหม่
2.ปีการศึกษา 2544 ครูต้นแบบสาขาการศึกษาพิเศษ จังหวัดเชียงใหม่
3.ปีการศึกษา 2544 ครูต้นแบบการปฏิรูปการเรียนรู้ สำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ
4.ปีการศึกษา 2544 รางวัลครูเกียรติยศสู่ดวงใจเด็ก (Teacher Award) สาขาวิชาการศึกษาพิเศษ สำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติ
5.ปีการศึกษา 2545 ข้าราชการครูตัวอย่าง จังหวัดเชียงใหม่
6.ปีการศึกษา 2546 ครูไทยตัวอย่าง หนังสือพิมพ์สื่อสารธุรกิจ กทม.
7.ปีการศึกษา 2546 ครูผู้ทำประโยชน์ด้านพัฒนาการศึกษา ชมรมพัฒนาคุณภาพภูมิปัญญาไทย
กรุงเทพมหานคร
8.ปีการศึกษา 2546 รางวัลครูคุรุสภา สาขาการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
9.ปีการศึกษา 2545 ผลงานทางวิชาการอาจารย์ 3 ระดับ 8 สาขาการศึกษาพิเศษ
10.ปี พ.ศ. 2548 สตรีดีเด่นผู้ดูแลคนพิการ กรมสุขภาพจิต
11.ปี 2548 ครูผู้พัฒนาการเรียนการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สพท.เชียงใหม่ เขต 1
12.เป็นวิทยากรให้ความรู้การจัดการเรียนร่วมแก่เครือข่ายทั่วประเทศ
13.ปีการศึกษา 2548 รับรางวัลพระราชทานผู้ดูแลเด็กออทิสติก จากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี
14.ปีการศึกษา 2548 ครูดีเด่น สาขาการศึกษาพิเศษ ของเครือข่ายคุณภาพการศึกษา อำเภอเมืองเชียงใหม่ 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 (วันครู )
15.ปีการศึกษา 2549 ครูดีเด่นครูผู้สอนในโรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วม มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 8
16.ปีการศึกษา 2550 เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่องานส่งเสริมพัฒนาการเด็ก กรมสุขภาพจิต
17.ปีการศึกษา 2550 รับรางวัลครูตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์ และจิตวิญญาณครู (วันครู) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 1
18.ปีการศึกษา 2551 ได้รับคัดเลือกจาก สพฐ. ศึกษาดูงานต่างประเทศ ด้านการศึกษาพิเศษ ร่วมกับคณะผู้บริหาร ณ เมือง Auckland ประเทศ New Zealand
19.ปีการศึกษา 2551 รับรางวัลยอดเยี่ยม ผลงานดีเด่นที่มีวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices Accreditation) งานมหกรรมศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคเหนือ 2551 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
20. ปีการศึกษา 2551 ครูดีเด่น ระบบช่วยเหลือดูแล ประเภทการศึกษาพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 (วันครู 16 มกราคม 52)


ด้านนวัตกรรม
1.แบบฝึกทักษะภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ประเภทออทิสติก ( 2544 ผลงานทางวิชาการ)
2. ศิลปะบำบัดสำหรับเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้และ ออทิสติก (2544 วิจัยในชั้นเรียน)
3.โปรแกรมการฝึกพูดสำหรับเด็กที่บกพร่องด้านสติปัญญาและมีปัญหาในการพูด (2545 วิจัยในชั้นเรียน)
4.กระจกฝึกพูดเพื่อพัฒนาด้านภาษาเพื่อการสื่อสาร.2545 วิจัยในชั้นเรียน
5.แผ่นใสสอนอ่านและเขียน (2545 วิจัยในชั้นเรียน)
6.แบบฝึกทักษะการเขียนประโยคสำหรับนักเรียนที่บกพร่องด้านสติปัญญา(2546 วิจัยในชั้นเรียน
7.สอนอย่างไรให้เด็กที่บกพร่องทางการเห็นรักษ์สิ่งแวดล้อม (2546 วิจัยในชั้นเรียน)
8.หนังสืออ่านง่ายสำหรับเด็กที่บกพร่องด้านสติปัญญา (2548 วิจัยในชั้นเรียน)
9.การฝึกให้รู้จักตนเองจากรูปโดยใช้เทคนิคการสอนเชิงพฤติกรรมแบบตะล่อมกล่อมเกลา(2548 วิจัยในชั้นเรียน)
10.รูปแบบการใช้เทคนิคการสอนแบบเชิงพฤติกรรมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (2548 วิจัยในชั้นเรียน)
11.การสอนทักษะการเรียนรู้การออกเสียงเป็นคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้เทคนิคการชี้แนะ(2548 วิจัยในชั้นเรียน)
12.การสอนพูดระดับคำสำหรับเด็กออทิสติกกลุ่มรุนแรงโดยใช้การเลียนแบบเสียงพูด (2548 วิทยานิพนธ์ มช. )
13.การปรับพฤติกรรมการล้อเลียนโดยใช้ข้อมูลย้อนกลับ (2549 วิจัยในชั้นเรียน)
14.การปรับพฤติกรรมไม่ตอบสนองคำสั่งโดยใช้เทคนิคการกระตุ้น และเทคนิคการให้รางวัล ฯลฯ (2549 วิจัยในชั้นเรียน)
15.การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบวิเคราะห์งานย่อย และเทคนิคการสอนเชิงพฤติกรรมสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนแกนนำเรียนร่วม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 (2550 วิจัยแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ )
16.การพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนร่วมในโรงเรียนวัดช่างเคี่ยน โดยใช้กลยุทธ์ 5อ 1ข 2ท 2551
17.เส้นทางการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมสำหรับเด็กออทิสติก (2551 บทความทางวิชาการ )
18. การพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องสั้น ๆ สำหรับ นักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้รูปแบบการสอนแบบวิเคราะห์งานย่อย (2551 วิจัยในชั้นเรียน)


การเป็นวิทยากร

1. เป็นที่ยอมรับของวงการศึกษาเป็นผู้ชำนาญการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
2.เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการจัดการเรียนร่วมมากกว่า 100 ครั้ง
3.เป็นวิทยากรให้ความรู้การจัดการเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้าง SEAT
4.เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการจัดทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
5.เป็นวิทยากรเพื่อสร้างเจตคติให้กับครู ผู้บริหาร ชุมชน และนักเรียน
6.ให้มีเจคติที่ดีต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมในโรงเรียน
7.เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านเทคนิคการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษทั้ง 9 ประเภท
8.เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการวัดและประเมินผลเด็กที่มีความต้องการ พิเศษเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติ
9.เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการปรับพฤติกรรมเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ความภาคภูมิใจ


รับรางวัลพระราชทานผู้ดูแลเด็กออทิสติก
จากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี
ปีการศึกษา 2548



งานวิจัย : การใช้แบบฝึกทักษะภาษาเพื่อพัฒนา...

การใช้แบบฝึกทักษะภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษา
เพื่อการสื่อสารสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ
ประเภทออทิสติก

ความเป็นมา
จากข้อมูลนักเรียน ผู้ศึกษาได้ศึกษาโดยการสังเกต การทดสอบการพูด ฟัง อ่าน และ เขียน พบว่า นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกมีการพัฒนาการด้านภาษาช้ากว่า นักเรียนในวัยเดียวกัน นักเรียนบางคนพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง พูดซ้ำ ๆ คำ พูดไม่ได้ใจความ พูดเพ้อเจ้อ ไร้จุดหมาย บางคนพูดเลียนแบบคำท้ายประโยค มีความล้าช้าทางการพูด และมีหลายระดับกล่าวคือ บางคนไม่สามารถพูดสื่อความหมายได้เลย บางคนพูดได้แต่ไม่สามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้อื่นได้เข้าใจและเหมาะสม บางคนจะมีลักษณะการพูดแบบเสียงสะท้อนหรือการพูดเลียนแบบทวนคำพูด หรือบางคนพูดซ้ำแต่ในเรื่องที่ตนเองสนใจ การใช้ภาษาพูด มักจะสลับสรรพนาม ระดับเสียงที่พูดอาจจะมีความผิดปกติ พูดซ้ำ ๆ เรื่อย ๆ ชอบสร้างคำที่มีความหมายเฉพาะตัวเอง เด็กบางคนไม่สามารถเล่นสมมุติได้ด้วยตนเองทั้งหมด หรือเล่นอย่าง มีจินตนาการ หรือไม่สามารถเล่นลอกเลียนแบบที่เคยพบเห็นในสังคมได้อย่างเหมาะสมตามวัย การพูดมักเลียนแบบหรือพูดตามทันทีที่คนอื่นพูดจบ หรือจำไปพูดโดยไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ขณะนั้น นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกจะมีปัญหาการสื่อความหมายที่สำคัญคือ การใช้ภาษา เด็กมักสับสนเกี่ยวกับคำที่มีความหมายตรงข้าม หรืออาจใช้ประโยคทั้งประโยค โดยหมายถึง คำ ๆ คำเดียวเท่านั้น เด็กมักจะไม่ใช้ภาษาเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ , 2542 : 7 – 11 )
การพัฒนาทางสติปัญญาของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติก จะมีสติปัญญาต่ำกว่านักเรียนปกติ มักจะมีพัฒนาการด้านภาษาและการพูดช้ากว่าอายุเช่นเดียวกับพัฒนาการทางด้านอื่น ๆ บุคคลที่มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าระดับปกติ จะหัดพูดได้ช้า พูดไม่ชัด ยิ่งระดับสติปัญญาต่ำมาก ๆ ภาษาและการพูดจะไม่พัฒนาและทำให้พูดไม่ได้ (รจนา ทรรทรานนท์ และคณะ , 2529 : 30 - 38 )
การเรียนการสอนภาษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติก จะเน้นให้นำภาษาไปใช้เพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือตนเองและปรับตัวได้ในสภาพสังคม การพัฒนาการเรียนรู้ทางภาษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกที่สามารถใช้ภาษาสื่อความหมายกับบุคคลอื่น จะได้รับการยอมรับจากครอบครัวและบุคคลอื่น ๆ และแสดงให้เห็นถึงสภาพที่แตกต่างกันในการดำรงชีวิต เพราะว่าการพัฒนาทางภาษาเป็นการพัฒนาชีวิตของเด็ก เนื่องจาก ภาษามิได้จำกัดแค่คำต่าง ๆ เท่านั้น แต่รวมถึง การพูด ความเข้าใจ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความคิด การเลียนแบบ การชี้นำตนเอง และการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ (Jeffree ,1986 : 321)
การเรียนการสอนภาษาจะเริ่มจากทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน การจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกให้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง สื่อของจริงจะเป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์มากต่อนักเรียน การปรับและการจัดสถานการณ์ ทางภาษาที่ให้นักเรียนได้มีโอกาสพูดคุย ลงมือกระทำในกิจกรรมที่หลากหลาย และกระทำซ้ำ ๆ หลายครั้งจะช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะการเรียนภาษาใน นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกนั้น มุ่งเน้นให้เด็กใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมายใน การดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข
จากสภาพปัญหาดังกล่าว ผู้ศึกษาจึงเห็นความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาความสามารถทางภาษาเพื่อการสื่อสารสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภท
ออทิสติก เพื่อพัฒนาด้านการพูด การอ่าน การฟังและการเขียนให้สอดคล้องกับความต้องการ ทำให้นักเรียนสามารถแก้ปัญหาได้ และนำไปใช้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความสามารถทางภาษาของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกต่อไป

วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างแบบฝึกทักษะภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติก
2. เพื่อหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติก
3. ศึกษาผลการใช้แบบฝึกทักษะภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติก


ขอบเขตการศึกษา
การศึกษาครั้งนี้ กระทำภายในขอบเขตต่อไปนี้
1. เนื้อหา แบบฝึกทักษะภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาเพื่อการสื่อสารสำหรับ นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกที่สร้างขึ้นเป็นกิจกรรมที่ฝึกทักษะความสามารถทางภาษาด้านความเข้าใจ การพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกโดยสร้างกิจกรรมตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร และใช้หลักจิตวิทยากระบวนการเรียนรู้ทางสังคมเข้ามาช่วยในการสร้าง
2. ระยะเวลาทำการฝึกทดลอง ทุกวันเป็นเวลา 42 สัปดาห์ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2545
3. ประชากรที่ใช้ในการศึกษา เป็นนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกที่
ได้ผ่านการเตรียมความพร้อมตามเนื้อหาทักษะ 9 ทักษะ จากศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8

ประโยชน์ที่ได้รับ
1. นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกสามารถนำทักษะความสามารถทางภาษาที่ได้รับไปใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.ได้แนวทางการพัฒนาการเรียนรู้และแบบฝึกทะษะทางภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาเพื่อการสื่อสารสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกที่มีประสิทธิภาพ

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1. ประชากร คือ นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกที่ผ่านการเตรียมความพร้อมตามเนื้อหา 9 ทักษะ จากศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8
2. กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกที่ผ่านการเตรียม ความพร้อมตามเนื้อหา 9 ทักษะ จากศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 และมาเรียนร่วมเต็มเวลาในโรงเรียนวัดช่างเคี่ยน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2545 จำนวน 5 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่
1. แผนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาเพื่อการสื่อสารสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติก จำนวน 70 แผน
2. แบบฝึกทักษะภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาเพื่อการสื่อสารสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติก จำนวน 123 แบบฝึก

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่
1. แบบประเมินความสามารถทางภาษาเบื้องต้นเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานด้านความสามารถทางภาษาของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกแต่ละคน
2. แบบประเมินความสามารถการใช้ภาษาก่อนและหลังการศึกษา

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์
1. หาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาเพื่อการสื่อสารสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติก โดยใช้สูตร E 1 / E 2
2. เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคะแนนความสามารถการใช้ภาษาของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยการหาค่าเฉลี่ย และการทดสอบค่าที (t – test)

สรุปผลการศึกษา
1. ประสิทธิภาพการใช้แบบฝึกทักษะภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติก จำนวน 20 ชุด 123 แบบฝึก มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 70/70
2. คะแนนทักษะความสามารถทางภาษาของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกหลังการใช้แบบฝึกทักษะภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาเพื่อการสื่อสารสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทออทิสติกสูงกว่าก่อนการใช้แบบฝึกทักษะภาษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

ผู้ศึกษา สุลีกาญ ธิแจ้ ครูชำนาญการพิเศษ
E mail : suleekan@hotmail.com โทร.081 9982516

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 1

ที่ปรึกษา ดร. เกตมณี มากมี